วันที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11530 มติชนรายวัน วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดร้อน-ร้อน กระทรวงอุตสาหกรรม โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช ไม่ เพียงแต่เป็นคนเขียนหนังสือ "วิศวกรรมความปลอดภัย" หนังสือเล่มแรก ที่เขียนให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องวิศวกรรมความปลอดภัยเมื่อ 30 กว่าปีก่อน และเป็นหนังสือที่นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ทุกคนทุกมหาวิทยาลัยต้องเรียน เป็น เจ้าของงานแปล Re-engineering ที่บอกเล่าถึงระบบที่สั่นสะเทือนวงการบริหารจัดการสมัยใหม่ทั่วโลก 5 เล่ม รวมทั้งแปลหนังสือ ISO 9000 และยังเป็นคอลัมนิสต์มานานถึง 10 ปี เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2552 วิฑูรย์ หนุ่มใหญ่-โสดสนิท วัย 55 ปีผู้นี้เกิดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2497 เป็นพี่ใหญ่ในบรรดาลูก 5 คนของ *คุณพ่อสุไชย* และ *คุณแม่มาลี สิมะโชคดี* พ่อ เป็นลูกคนจีน ทำมาค้าขายจนเป็นเถ้าแก่ขายมะพร้าวอยู่ที่บ้านในซอยริมน้ำ ท่าเตียน แต่ความที่พ่อเป็นคนรักการอ่านจึงทำให้เด็กชายวิฑูรย์ซึมซับเป็นหนอนหนังสือ มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย "พ่อไม่ได้จบอะไร แต่ชอบอ่านหนังสือมากทั้งภาษาไทย ภาษาฝรั่ง และจะทิ้งหนังสือไว้ให้อ่านตลอด มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ผมคิดว่ามีอิทธิพลต่อผมมาก คือหนังสือ "วิธีชนะมิตรและจูงใจคน" ของเดล คาร์เนกี และอาษา ขอจิตต์เมตต์ เป็นคนแปล ในนั้นจะสอนว่า "อย่าเลื่อยขี้เลื่อย" หมายถึงอย่าสนใจกับเรื่องไร้สาระ ฯลฯ *"สิ่งเหล่านี้ผมจำติดใจมาตลอดและนำมาใช้กับการบริหารคนจนทุกวันนี้"* ปลัด ใหม่หมาดผู้นี้ สำเร็จปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ม.เกษตรศาสตร์ และนิติศาสตรบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ ปริญญาโท พาณิชยศาสตรมหาบัณฑิต (MBA) ม.ธรรมศาสตร์ ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต รัฐประศาสนศาสตร์ (การบริหารจัดการภาครัฐและภาคเอกชน) ม.รามคำแหง เป็นลูกหม้อขนานแท้ ของกรมโรงงาน ผ่านอบรมหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 16 หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 11 สถาบันพระปกเกล้า ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 13 นั่งเก้าอี้บริหารในกระทรวงอุตสาหกรรมมาแล้ว หลายตำแหน่ง รวมทั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานโครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น บอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บอร์ดบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบอร์ดบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รวมทั้งเก้าอี้นายกสมาคมส่งเสริมคุณภาพแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัล นิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ดีเด่น ม.เกษตรศาสตร์ ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ "เกษตรศาสตร์ ปราดเปรื่อง" นิสิตเก่าที่นำชื่อเสียงเกียรติคุณสู่มหาวิทยาลัย "ผมเป็นซี 10 คนแรกๆ ของรุ่น เป็นอธิบดีคนแรกของรุ่น" อธิบดีวิฑูรย์ บอกอย่างนั้น และยืนยันว่า... *การที่เข้ามารับตำแหน่งปลัดกระทรวงไม่ได้มาจากการเป็นคนเก่งคนเฮง แต่เพราะการเป็น "คนคุณภาพ" ของตนเอง* ความเป็นมาก่อนมาอยู่ที่กรมโรงงาน หลัง จบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2520 ก็เรียนต่อปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ เรียนเอ็มบีเอ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีด้วย ตอนนั้นมีเพื่อนที่ร่วมหัวจมท้ายและติวกันตลอด ก่อนจบ ตอนนั้นปี 2525 มีเพื่อนคนหนึ่งไปเจอหนังสือชื่อว่า "วิชาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่เคยสอน" หนังสือเล่มนี้บอกว่าคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต พื้นฐานต้องจบเอ็มบีเอ มีความรู้ทางการเงิน และต้องจบกฎหมาย เพราะเวลาบริหารธุรกิจเราต้องระแวดระวังเรื่องกฎหมาย เป็นสูตรของอเมริกาเลย แต่ที่อเมริกาวิชากฎหมายต้องเป็นสุดท้าย เพราะประสบการณ์มาก่อน ไม่เหมือนบ้านเรา เดี๋ยวนี้ยังเป็นอยู่ไหม ว่า "คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตพื้นฐานต้องจบเอ็มบีเอและเรียนกฎหมาย" ผม ว่ามีส่วนนะ เป็นปัจจัยความสำเร็จอันหนึ่ง ผมเชื่อมั่นว่าคนที่เก่งบริหารไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าไม่อยากให้ใครมาแหยมก็ต้องหมั่นฝึกปรือให้เป็นมืออาชีพ กฎหมาย ก็มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าเรารู้จริงแม่นจริง คนมาแหยมหรือมาสอดแทรกเรายาก คนที่จบนิติศาสตร์ ถ้าไม่เจ๋งจริงมักจะถูกคนอื่นมาลองภูมิ ลองของ เพราะฉะนั้น การที่จะไม่ถูกลองภูมิลองของเราต้องฝึกปรือให้เกิดเป็นมืออาชีพจริงๆ อย่างผมทางนิติศาสตร์ ผมสนใจเรื่องเช่าทรัพย์เช่าซื้อ ผมทำจนผมเจ๋งทางด้านเช่าทรัพย์เช่าซื้อ คนก็จะรู้จักผมทางด้านนี้ คือเป็นมืออาชีพทางด้านนี้ แสดงว่าเรียนจบปุ๊บก็เข้ารับราชการเลย ครับ ทำที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่อายุ 21 ปี จนถึงวันนี้อายุ 55 ปีแล้ว วันเสาร์-อาทิตย์ ก็เป็นอาจารย์สอนพิเศษวิชาวิศวกรรมความปลอดภัยที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า ธนบุรี และทุกวันนี้ก็ยังเป็นอาจารย์อยู่ ที่ภาคภูมิใจมากคือเป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษาปริญญาโท วิชากฎหมายอุตสาหกรรม ของรามคำแหง ตั้งแต่รุ่น 1 จนถึงทุกวันนี้ รุ่นที่ 17 แล้ว เพราะผมเขียนหนังสือเรื่องกฎหมายอุตสาหกรรม ผมยังเป็นคนเขียนหนังสือเรื่อง "วิศวกรรมความปลอดภัย" ซึ่งเป็นเล่มแรกของประเทศไทย ถึงวันนี้ผมเขียนหนังสือ 61 เล่มแล้วครับ ชอบอ่านหนังสือ? ชอบ มาก เรื่องนี้ต้องบอกว่าผมได้รับอิทธิพลจากคุณพ่ออย่างมาก ผมมีพี่น้อง 5 คน แต่มีผมคนเดียวที่ชอบอ่านหนังสือ เป็นหนังสือเชิงบริหารธุรกิจ หนังสือบริหารสังคมเชิงจิตวิทยา พัฒนาตัวเอง หนังสือพระก็อ่านเยอะ อ่านปรัชญาชีวิต เรื่องสังคมบ้าง แต่หลังๆ หันมาอ่านเรื่องของศาสนามากขึ้น โดยเฉพาะหนังสือของท่านพุทธทาส อ่านเกือบทุกเล่ม และนำคำสอนของท่านมาใช้ในการบริหารคนมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการมองคนในแง่ดี เพราะคนเราทุกคนมีส่วนเลวบ้าง แต่อย่าไปสนใจ ให้เอาส่วนดีของเขามาใช้ แต่ละเดือนหมดเงินไปกับการซื้อหนังสือเยอะ? เดือนหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท จนเดี๋ยวนี้มีเป็นภูเขาเลากา บางส่วนต้องยกให้ห้องสมุดไป อ่านทุกเล่มที่ซื้อแล้วจำได้ทั้งหมดหรือ? ไม่ ทุกเล่ม คือบางทีเราเปิดอ่านแค่ย่อหน้าเดียวเราไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก และผมเป็นคนเชื่ออยู่อย่างว่า "อย่าตัดสินหนังสือด้วยปก" บางเล่มชื่อสวยหน้าปกเก๋ แต่อ่านข้างในไม่ได้เรื่อง ฉะนั้นก็ต้องลงทุนซื้อทั้งเล่ม แล้วผมคิดว่าหนังสือเล่มหนึ่งๆ ถ้าเจอสักย่อหน้าหนึ่งที่โดนก็เปลี่ยนชีวิตเราได้ อย่างเวลามีวิทยากรที่พูดดีๆ ฟังเขาแป๊บเดียวเราก็รู้เลยว่าชีวิตเราเปลี่ยนได้ น้องผมจบปริญญาตรี ก็ไม่ชอบอ่านหนังสือสักคน ผมเองเวลาสอนหนังสือถ้าเราดูองค์กรแห่งการเรียนรู้เป็นเรื่องง่ายเลย เราคิดอย่างนี้ว่า เราจะมีความรู้เพิ่มเติมขึ้นมาจากใครได้บ้าง หนึ่ง-ถ้าเราไม่ชอบฟัง ไม่ชอบอ่าน เราก็ไม่ได้ความรู้ จะให้ดูหนังดูละครบางเรื่องก็มีสาระ บางเรื่องก็ไม่มีสาระ ผมก็เชื่อ ว่าชีวิตคนเราถ้าแบ่งจะได้ 2 แง่มุม คือ มีสาระ กับ ไร้สาระ แต่ชีวิตคนเรามักจะไร้สาระมากกว่ามีสาระเสียอีก คนเรามีสาระตลอดไม่ได้ เพราะจะไม่มีใครคบ (หัวเราะ) ทราบว่าเคยเป็น ผอ.โครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่นคนแรก ครับ ที่ได้เป็นเพราะไม่มีคนทำ (หัวเราะ) ที่จริงคือเขาเห็นเราติดตามงบประมาณได้ เก่งเรื่องดีเฟนด์ (defend) งบประมาณ นึกว่ามีความรู้เรื่องแฟชั่น ไม่ เคยมี เกิดมาไม่ได้เป็นนักแต่งตัว แล้วไม่ได้มีหุ่นนายแบบ (ยิ้ม) แต่โครงการเมืองแฟชั่นนี่ดีมากนะ เพราะพอพูดเรื่องแฟชั่นปุ๊บรู้เลยว่า ค่าตัวนางแบบดีขึ้น เสื้อผ้าดีขึ้น ทรงผม เครื่องสำอาง เมกอัพ กระเป๋า รองเท้า และหนังสือแฟชั่นเกิดขึ้นมากมาย กล้องถ่ายรูปก็ขายดี (หัวเราะ) ทำให้เมืองไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศมากขึ้นไหมในด้านแฟชั่น ผม ว่าก็มีนะ คือสมัยก่อนคิดโจทย์ว่าเราควรเป็นเมืองแฟชั่นหรือเปล่า เราตอบไม่ได้ว่าควรเป็นหรือเปล่า แต่คิดแค่ว่า สมมุติว่ามีคนมาเที่ยวเมืองไทย ปีละ 20 ล้านคน แค่ซื้อเสื้อผ้าคนละ 1,000 บาทเท่านั้น เราก็จะได้เงินเกือบสองหมื่นล้านแล้ว ไม่รวมค่ากิน ค่าที่พัก แต่กรุงเทพฯเมืองแฟชั่นลงทุนไปแค่ 1,800 ล้านบาท กลับเกิดอะไรขึ้นมากมาย อย่างดีไซเนอร์ ไม่น่าเชื่อเลยว่าคนที่ได้ดีไซเนอร์ที่ 1 ของโลก คือคนไทย ถ้าคนที่ไม่อยู่ในวงการแฟชั่นไม่รู้หรอก คนไทยเราไม่จ้างดีไซเนอร์ จะก๊อบปี้เลียนแบบ ดีไซเนอร์ไม่มีความหมาย พอถึงวันนี้เราต้องมาพูดกันถึงเรื่องสังคมสร้างสรรค์ ต้องสร้างคนที่คิดไอเดีย เพราะมันจะสร้างความแตกต่าง "แจ๊ค เทร้าท์" นักเขียนที่เขียนหนังสือเรื่อง Positioning บอกเลยว่า differentitative or die ถ้าเราไม่แตกต่าง สินค้าเราก็ขายไม่ได้ เราก็ตายในที่สุด เพราะฉะนั้น การสร้างความแตกต่างจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีวิญญาณของการดีไซน์ แล้วทำไมโครงการล้ม? ไม่ ได้ล้ม มันปิดโครงการ แล้วรัฐบาลใหม่ไม่เอา ผมไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร แต่ถ้าถามทรรศนะผม-ผมว่าเมืองแฟชั่นดีนะ ดีตรงที่ว่ามีคนเกี่ยวข้องเยอะ ผม ว่าบ้านเรามันไปลำบาก เพราะเรามีวินัยเกษตรกรรม คือหมายถึงเรื่อยๆ มาเรียงๆ ไม่เคยสนใจซีเรียสกับเวลา แต่บ้านอื่นเมืองอื่นเขามีวินัยอุตสาหกรรม นัดกี่โมงก็ต้องเท่านั้น หรือเข้างานแปดโมงก็ต้องแปดโมง ถ้าไม่เข้าถือว่าผิด แต่วินัยเกษตรกรรมนี่ปลูกผักถางหญ้า ชีวิตเรียบง่ายอีกแบบหนึ่ง ขึ้นกับฝนฟ้าอากาศ เมื่อก่อนสมัยหนุ่มๆ อยู่กรมโรงงาน เกาหลีต้องมาดูงานเรา แต่เดี๋ยวนี้เราต้องไปดูงานที่เกาหลี วันนี้เวียดนามก็เจริญกว่าเราแล้ว เราใจเย็น เพราะเรื่อยๆ มาเรียงๆ มาก บ้านเราคนไม่ค่อยมีคุณภาพ? ผม เคยบอกกับเพื่อนเล่นๆ ว่า นี่ขนาดเรามั่วๆ ไม่ค่อยมีคุณภาพแบบนี้นะ ยังเจริญขนาดนี้ ถ้าเรามีคุณภาพ ผมว่าประเทศไทยไม่มีใครฉุดเราอยู่หรอก เพราะคนไทยเราถ้าดูเป็นคนๆ เราเก่งจริงๆ ได้รางวัลระดับโลกมากมาย รางวัลโอลิมปิคอย่างนี้ แต่พอประมวลระบบการศึกษาทั้งประเทศ โน่น เกือบบ๊วยของทั้งโลก แต่ทำไมคนไทยยังคิดว่าตัวเองเจ๋ง ผม เชื่อว่าคนไทยเรานับเป็นคนๆ แล้วเจ๋ง เราเรียนรู้เร็ว ดูอย่างคนญี่ปุ่นที่มาเมืองไทย เมื่อเทียบกับคนทั่วโลก เขาชอบคนงานคนไทยมาก สอนง่ายเป็นเร็ว แต่เสียตรงที่ทำงานด้วยอารมณ์มากกว่าด้วยกฎเกณฑ์ สมมุติว่าเขามีกฎเกณฑ์ มีคู่มือมาให้ คนไทยไม่ดูไม่อ่าน ทำตามอย่างที่เคยทำ สรุปคือ คนไทยทุกวันนี้มีคุณภาพ แต่เป็นคนๆ นะ ถ้าภาพรวม...พัง เพราะคำว่า "คุณภาพ" ในความหมายที่แท้จริงหมายถึงในเชิงองค์รวม คือทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องทำได้ ถ้าเทียบคนไทยกับฝรั่งทำไมเราก้าวตามหลังเขา? เรา ไม่ได้ก้าวตามหลังเขา แต่เป็นเพราะวิทยาการเกิดขึ้นจากเขาก่อน เขาเป็นคนคิด เขาขยันคิด เราเชื่อคนคิดนะ อย่างผมเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง เพื่อนมาเห็นถามว่า "วิฑูรย์เขียนเองเหรอ ถามจริงๆ เอามาจากหนังสือเล่มไหน" คือคนไทยเราไม่เคยให้เครดิตกันเลย บ้านเราไปไม่รอด เพราะเราไม่เคารพมันสมองของคน เราไม่ส่งเสริมให้คนคิด เมื่อไม่ส่งเสริมให้คนคิด คนคิดจะมีประโยชน์อะไร สังคมเราขัดแย้งใน ตัวเอง เราอยากให้คนคิด แต่รายการทีวีที่ส่งเสริมให้คนคิด ไม่มี มีแต่สอนให้คนจำ แล้วจะหาคนที่ครีเอทีฟอินโนเวชั่นได้ยังไง เท่าที่ ผมไปมาแล้วทั่วโลก ผมเห็นว่าบ้านเราเก่งที่สุดในด้านบริการ แต่ในส่วนของผมจะเน้นเรื่องอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นหลัก เรียกว่า Strength เช่น พวกอาหารกระป๋อง ทีนี้ผมว่าบ้านเรา สำหรับผมเองเห็นว่าความขัดแย้งในเรื่องต่างๆ สูง บางคนบอกว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้ว อีกคนบอกว่ายัง คนอยู่ตรงกลางไม่รู้จะทำยังไง เราไม่เปิดช่องให้คนที่คิดเป็นคิดเก่ง-โตได้ อย่างนี้เป็นปลัดกระทรวงแล้วจะทำให้แตกต่างยังไง จะ พยายามวางรากฐานที่มั่นคงให้กับประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล จะไม่เปลี่ยนนโยบายบ่อยๆ เช่น เรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่ม ผมว่าอุตสาหกรรมไทยเราไปได้ ขอให้มันถูกทิศถูกทางเท่านั้นเอง และมีวินัยอุตสาหกรรมมากขึ้น คือเวลาทำงานต้องจริงจัง ไม่ใช่ว่าเล่นกับงานปนกันหมด นี่ผมคิดของผมนะ ถ้าเมื่อไหร่คนไทยเราลุกขึ้นมาเป็นคนมีคุณภาพ ผมว่าสุดยอดทุกคน ภาย ในเร็ววันนี้คิดว่าจะทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการ และประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมกับจะวางแผนเพื่อวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาให้กับภาคอุตสาหกรรม ของประเทศ ดูเหมือนเป็นคนคิดมาก? เป็นคนขยันคิด แต่ไม่ได้คิดมาก เพราะคิดมากทำให้เราเดือดเนื้อร้อนใจ แต่ขยันคิดคือคนเรามีพลังงานมหาศาล แต่ถ้าไม่เจอสิ่งที่เราชอบ เราก็ปลดปล่อยศักยภาพของเราไม่ได้ ผมโชคดีที่พบสิ่งที่ผมชอบ ผมชอบเขียนหนังสือ ผมเขียนได้ ผมชอบบรรยาย ผมบรรยายได้ ผมทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ผมก็มีความสุข มีพลังงานมหาศาลในการทำงาน แต่ว่าตรงนี้ไม่ใช่ว่าทุกคนเลือกได้ ลองคิดดูปีหนึ่งๆ ผ่านไป มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง ทำงานเหนื่อยกันจะตาย มันเหมือนกับรอยเท้าบนผืนทราย พอน้ำซัดผ่านก็หายไป เพราะเราไม่มีพลังในการทำงาน แต่ถ้าได้รับโอกาสและมีคนดึงความเก่งของเขาออกมาได้ ผมคิดว่าห้ามไม่อยู่ เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าคนไทยเป็นคนเก่ง แต่ทำยังไงจะให้เขาได้โอกาสในการทำงาน หน้า 17 |
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
wong
http://climate9.blogspot.com/ climate
http://siddhartha99.blogspot.com/ siddthartha
http://seminarsweet.blogspot.com/ ilaw
http://sunsweet09.blogspot.com/ sunsweet
http://dbd652.blogspot.com/ dbd652
http://www.thaicyberu.go.th/
http://www.youtube.com/greenpeacethailand
http://www.lek-prapai.org/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น